การบริหารจัดการความรู้กับครูยุคใหม่(ตอนที่1)

     ในปี 2563 ประเทศไทยจะประสบปัญหาจากจำนวนข้าราชการครูที่จะเกษียณอายุราชการกว่า 180,000 คน ถึงแม้จะมีโครงการบรรจุข้าราชการครูมาทดแทนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมานั่นก็คือ ความแตกต่างระหว่างครูยุคกลางเก่ากลางใหม่ กับครูพันธ์ใหม่ ได้อ่านบทความของขุนสำราญภักดีแห่งมติชน ว่าด้วยเรื่อง ครบ 84 ปี คุรุ ชื่อ นิภา เรื่องลับที่ไม่มีใครรู้ว่า เป็นครู ดีกว่า เป็น หมอ  แล้วก็ให้ได้คิดถึงคำสอนของครูบาอาจารย์รุ่นเก่าแห่งช่างกลปทุมวันว่า อาชีพครูนี้เป็นอาชีพที่แปลก เป็นอาชีพที่เลิกไม่ได้ ก็เพราะว่าลูกศิษย์ของเรานั้นยังเรียกครูอยู่แม้จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
     สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบเตรียมการสำหรับปัญหานี้ เนื่องจากครูในสถานศึกษาสังกัด สอศ. นั้นเป็นครูที่จะต้องสอนที่ความรู้และความชำนาญแห่งทักษะวิชาชีพที่ถือว่าเป็นความชำนาญเฉพาะตัว แตกต่างจากครูสังกัดอื่นๆ ผู้เขียนเองได้เล็งเห็นถึงนวัตกรรมทางการศึกษาหนึ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นก็คือการบริหารจัดการความรู้(Knowledge Management: KM) นั่นเอง
    หลายท่านอาจเคยชินกับโมเดลปลาทู ที่ผู้บริหารหลายท่านอบรมแล้วมักนำมาล้อเล่นเช่นว่า ต้องมีคุณอำนวย คุณกอบ คุณเกื้อ แล้วก็มีครูน้อยเป็นลูกสร้อยว่าสุดท้ายก็แพ้คุณอำนาจ เพราะว่าวัฒนธรรมบางอย่างของคนบางกลุ่มชอบใช้อำนาจ แล้วจริงๆ KM มันคืออะไร
    การจัดการความรู้คือคือกระบวนการที่ดำเนินการร่วมกันโดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กร เพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นกิจกรรม ของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการหรือนักทฤษฎี แต่นักวิชาการหรือนักทฤษฎีอาจเป็นประโยชน์ในฐานะแหล่งความรู้  เพื่อให้เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนางานและพัฒนาคน โดยมีความรู้และกระบวน การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ
    ซึ่งความรู้มีสองแบบได้แก่ 
    1. Tacit Knowledge คือ ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ และไม่สามารถบรรยายเป็นถ้อยคำ ถ้อยความ หรือสูตรได้ และขึ้นอยู่กับความเชื่อ รวมทั้งทักษะเชิงวิชาการของบุคคลที่จะกลั่นกรองความรู้ ความรู้ชนิดนี้สามารถพัฒนาและแบ่งปันกันได้ และเป็นความรู้ที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน
    2. Explicit Knowledge คือ ความรู้ที่เป็นเหตุและผลที่สามารถจะบรรยาย/ถอดความ ออกมาได้ในรูปของทฏษฎี การแก้ไขปัญหา คู่มือ และฐานข้อมูล (ทุกคนสามารถเข้าถึง/ซื้อได้)
    จะเห็นได้ว่า ความรู้ประเภทที่สองไม่น่าจะเป็นปัญหาในวงการวิชาชีพครู แต่เจ้า Tacit Knowledge นี่สิ หากข้าราชการครูผู้เชี่ยวชาญจริง แม้ไม่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญก็ตาม ได้เกษียณหรือเออรี่รีไทน์ไปแล้ว ย่อมสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรีบทำการดักจับ หรือเก็บความรู้ที่มีอยู่ในบุคคลเหล่านี้ไว้ในระบบสารสนเทศผ่านกระบวนการทางสังคมที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการที่เรียกว่า SECI Model ของ Nanoka น่าจะเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง โดยมีความหมายดังนี้


S = Socialization คือ การสร้างความรู้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์โดยการพบปะสมาคม และพูดคุยกับผู้อื่น ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอด แบ่งปัน ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลไปให้ผู้อื่น ซึ่งกระบวนการทางสังคมนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความรู้สึกแคร์ต่อกัน การให้เกียรติกัน รวมถึงมีความรักและหวังดีต่อกัน

E = Externalization คือ การแปลความหมาย ถ่ายทอดความรู้ในตัวบุคคลที่ได้มาจากการพูดคุย นำถ่ายทอดออกมาให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือเป็นลายลักษณ์อักษร

C = Combination คือ การผสมผสานความรู้ที่ได้จากขั้นต้อง Externalization มากลั่นกรองรวมกับแหล่งความรู้จากภายนอก หรือแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ เพื่อตรวจทานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในทางปฏิบัติได้

I = Internalization คือ การนำความรู้ที่ได้มาใหม่ไปใช้ปฏิบัติหรือลงมือทำจริง ๆโดยคนในองค์กร ซึ่งการฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา จะกลายเป็นความรู้และพัฒนาปรับปรุงตนเอง และจะกลายเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในคนที่ได้ศึกษาต่อไป

จะเห็นได้ว่าวงจรพัฒนาแบบ SECI นี้จะทำอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง เห็นที่จะต้องมาว่ากันต่อคราวหน้าสำหรับเรื่องการจัดการความรู้อีกสักตอนแล้วล่ะ วันนี้ลาไปก่อนครับ
สวัสดี

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


wnitat

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์