Blackout คืออะไร

EGAT Black Start Advertising Campaign
Q : Blackout คืออะไร
A : Blackout คือการเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่เป็นจังหวัด เป็นภาค (Partial Blackout) หรือทั้งประเทศ อาจเกิดเป็นระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนถึงเป็นวัน เป็นสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

Q : สาเหตุการเกิด Blackout
A : มีสาเหตุหลัก 4 ประการด้วยกันคือ
1. การไม่มีระบบป้องกันที่ดีเมื่อความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลง
2. มีโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมากหลุดออกจากระบบไฟฟ้า
3. ระบบส่งไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพ
4. ระบบจ่ายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขัดข้อง

Q : ประเทศไทยเคยเกิดเหตุ Blackout ทั่วประเทศหรือไม่ เมื่อใด
A : ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 เวลา 07.40 น. สาเหตุเกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญ เกิดขัดข้องด้านเทคนิค ส่งผลทำให้ไฟดับทั่วประเทศ โดยเกิดไฟฟ้าดับในภาคเหนือประมาณ 1 ชั่วโมง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 นาที ภาคกลางประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับเขตนครหลวง ไฟฟ้าดับประมาณ 2 ชั่วโมงจึงเริ่มมีการจ่ายไฟฟ้าสู่บางพื้นที่ และเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนในทุกพื้นที่มีไฟฟ้าใช้เมื่อเวลา17.00 น. สรุปแล้วเกิดเหตุไฟฟ้าดับในเขตนครหลวงนานที่สุดถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที แต่หลังจากเหตุการณ์ในปี 2521 ประเทศไทยไม่เคยมีเหตุ Blackout หรือไฟฟ้าดับทั่วประเทศอีกเลย

Q : หากเกิดเหตุ Blackout ทั่วประเทศขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง ความเสียหายจะเป็นอย่างไร
A : จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า ปัจจุบันหากเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ จะสร้างผลเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงชั่วโมงละ 1,000 ล้านบาท และหากเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงๆ จะมีความเสียหายมากกว่านี้ ทั้งทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ต่อการลงทุนของต่างประเทศ

Q : ความเป็นไปได้ในการเกิด Blackout ทั่วประเทศ
A : ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ ประเทศที่เกิดขึ้น ในด้านปริมาณจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน กฟผ. ก็ได้จัดให้มีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) ซึ่งมีขนาดเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในระบบ นอกจากนั้น ยังมีระบบป้องกันอัตโนมัติ (Under Frequency Load Shedding) ซึ่งดำเนินการร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเลือกตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่มี ผลกระทบน้อยที่สุดออกบางส่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพส่วนใหญ่ของระบบให้คงอยู่ จากสถิติที่ผ่านมา มีการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกไปไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เห็นได้ว่าระบบป้องกันอัตโนมัติดังกล่าว สามารถรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนกรณีการขัดข้องที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาการขัดข้องในระบบการจ่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักนั้น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง สามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลได้ทันที โดยปัจจุบัน กฟผ. มีการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลให้เพียงพอต่อการใช้งานได้นานถึง 3 วัน
ดัง นั้นแม้ว่า กฟผ. จะไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับทั้งประเทศขึ้น อีกครั้ง แต่จากสภาพของระบบส่งไฟฟ้า โรงไฟฟ้า และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้มีการฝึกซ้อมสถานการณ์อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่ใช้ โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นทั่วประเทศหรือในวงกว้างของประเทศไทยจึงมีน้อย มาก หรือถ้าเกิดขึ้น กฟผ. ก็พร้อมที่จะกู้ระบบไฟฟ้ากลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

Q : หากเกิด Blackout กฟผ. จะดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างรวดเร็ว
A : กฟผ. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการวางแผนและตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด นับตั้งแต่ปี 2521 เพื่อดูแลแผนการป้องกันมิให้เกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ (Blackout Prevention Plan) แผนการนำระบบกลับคืนสู่สภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan) และการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งคณะทำงานทุกชุดมีการประชุม วางแผน วิเคราะห์สาเหตุ แก้ไขปัญหา และซ้อมแผนการนำระบบคืนสู่สภาวะปกติอย่างสม่ำเสมอทุกปี