บทความ ทักษะการอ่าน

ทักษะการอ่าน

เราคงชอบที่จะอ่านหนังสือสบายๆ อ่านแล้วเพลิดเพลิน แต่เวลาที่เราต้องอ่านบทความงานวิจัยหรือหนังสือที่ไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ เราต้องฝืนทนอ่านมันให้จบ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ มันมีวิธีที่จะทำให้เราอ่านหนังสือพวกนั้นได้ง่ายและเร็วขึ้น หนังสือ How to read a book จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียนหรือนิยายเล่มหนา

 

บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ

  • เรียนรู้การฝึกทักษะการอ่าน
  • รู้จักระดับของการอ่าน การอ่านขั้นพื้นฐาน อ่านเพื่อตรวจสอบ อ่านเพื่อวิเคราะห์ และอ่านเพื่อเปรียบเทียบ
  • เวลาอ่านหนังสือ เราจะต้องตั้งใจอ่าน มีสมาธิในการอ่าน จะได้เข้าใจเนื้อหาจากหนังสือ
  • การอ่านเพื่อตรวจสอบ อ่านแบบผ่านๆ เพื่อให้รู้ว่าควรซื้อหนังสือเล่มนั้นหรือไม่
  • การอ่านเพื่อวิเคราะห์ เราต้องอ่านและเข้าใจเนื้อหาให้ละเอียด
  • เราควรวิจารณ์หนังสือด้วยความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่โน้มเอียง ไม่เข้าข้าง เราไม่ควรวิจารณ์หนังสือถ้าเรายังไม่เข้าใจสิ่งที่คนเขียนต้องการจะสื่อ
  • การอ่านเพื่อเปรียบเทียบ เป็นการอ่านข้อความบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายงานหรือบทความที่เราจะเขียน
  • การฝึกทักษะการอ่าน จะช่วยให้เราเข้าใจหนังสือที่มีเนื้อหายากๆ ได้

ทำไมทักษะการอ่านของเราจึงไม่พอที่จะทำให้เราเข้าใจหนังสือที่มีเนื้อหายากๆ แล้วทำยังไงถึงจะพัฒนาทักษะการอ่านได้

ทักษะการอ่าน

การจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการอ่านหนังสือสักเล่ม เราต้องอ่านอย่างจริงจังตั้งใจและมีทักษะการอ่าน

เวลาอ่านนิยาย เวลาที่เราอ่านหนังสือที่เราชอบ บางทีเราจะหลุดเข้าไปในโลกของนิยาย ทำให้เราเพลินจนไม่รู้ตัว นั่นเพราะว่าเราอ่านหนังสือด้วยความสนุดเพลิดเพลิน เราไม่ต้องคาดหวัง เราจะรู้สึกผ่อนคลายและแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามในการอ่านเลย แต่หลายครั้งที่เราต้องอ่านหนังสือเพราะเราต้องทำความเข้าใจเนื้อหาให้ได้ เช่น ต้องอ่านเพื่อไปสอบ

และสำหรับบางคนการอ่านหนังสือมันคือยานอนหลับดีๆ นี่เอง แต่ถ้าเราฝึกฝนการอ่านให้ดี เราก็จะได้รับความรู้หรือแรงบันดาลใจจากหนังสือได้อย่างเต็มที่

การอ่านหนังสือให้ได้ดี เราจะต้องตั้งใจและมีสมาธิ ไม่ใช่แค่อ่านเพื่อรับรู้ข้อมูล แต่ต้องเข้าใจคนเขียน ต้องวิเคราะห์ รู้จักสงสัย เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น

ครั้งแรกที่เราอ่านหนังสือที่มีเนื้อหายากๆ ให้เราอ่านตลอดทั้งเล่มโดยที่ไม่ต้องหยุด ถึงแม้ว่าจะมีบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ ทักษะการอ่านแบ่งออกเป็นหลายระดับ แต่ละระดับมีความต่อเนื่องกัน

การอ่าน ขั้นพื้นฐาน

เป็นการอ่านโดยที่เราสามารถจำและรู้ความหมายของคำ เข้าใจโครงสร้างประโยค และเข้าใจความหมายที่เปลี่ยนไปของคำที่อยู่ในแต่ละสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขที่ต่างกัน เมื่อเราอ่านได้ในระดับนี้ มันก็พอที่จะทำให้เราอ่านหนังสือเพื่อรับรู้ข้อมูลหรือเพื่อความสนุก แต่การที่เราจะอ่านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราจะต้องฝึกทักษะการอ่านขั้นสูงกว่านี้

สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือ เราจะต้องตั้งใจอ่าน มีสมาธิในการอ่าน เหมือนที่เราเล่นโยนลูกบอล คนเขียนหนังสือคือคนโยน และคนอ่านคือคนรับ ถ้าเราไม่ตั้งใจรับ เราก็จะรับบอลไม่ได้ เราก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่คนเขียนต้องการสื่อ

ดังนั้นเราจะอ่านแบบเเฉื่อยๆ แล้วคาดหวังว่าข้อมูลที่สำคัญมันจะไหลเข้าหัวเราได้เอง มันเป็นไปไม่ได้ การจะเข้าใจเนื้อหาจากหนังสือ คนอ่านจำเป็นต้องตั้งใจและฝึกฝนทักษะการอ่าน

การอ่านเพื่อตรวจสอบ การอ่านจับใจความสําคัญ

เวลาที่เราเลือกหนังสืออยู่ที่ร้าน ในเวลาสั้นๆ ที่เราต้องตัดสินใจว่าควรจะซื้อดีไหม เราจะใช้การอ่านเพื่อตรวจสอบ อ่านแบบผ่านๆ เพื่อให้รู้ว่าควรซื้อหรือไม่ หลังจากนั้นเราค่อยอ่านให้ละเอียดอีกที

เริ่มด้วยการตรวจดูชื่อหนังสือหรือคำนำ ก็พอจะรู้ว่าเป็นหนังสือแบบไหน อ่านสารบัญหรือคำนิยมที่มันจะเผยให้เรารู้ว่าเนื้อหาในหนังสือเกี่ยวกับอะไร ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะซื้อเล่มนั้นหรือเปล่า ถึงตอนนี้เราอาจจะรู้แล้วว่ามีบทไหนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจ ใช้เวลาสั้นๆ เพื่ออ่านบทนำและบทสรุป จับใจความสำคัญในข้อความแต่ละย่อหน้า เปิดข้ามไปแล้วสุ่มอ่านบางบท บางประโยค และอ่านหน้าท้ายๆ ที่คนเขียนมักจะสรุปเนื้อหาหรือประเด็นสำคัญของหนังสือ

หนังสือที่ดีคือหนังสือที่เข้าใจยาก มันคงไม่ดีถ้ามันไม่ยาก

ทักษะอีกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการอ่านเพื่อตรวจสอบคือการอ่านแบบผิวเผิน เวลาที่เราอ่านหนังสือที่มีเนื้อหายากๆ มันจะทำให้เราต้องหยุดทำความเข้าใจคำที่เราไม่คุ้นเคย ทำให้เราต้องเปิดพจนานุกรม หรือทำให้เราต้องไปอ่านหนังสือเล่มอื่นเพื่อทำความเข้าใจ การที่เราต้องหยุดมันจะทำให้เราอ่านได้ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เราเสียสมาธิได้ จนอาจจะทำให้เราต้องวางหนังสือเล่มนั้นไปเลย

สิ่งที่เราควรทำคือ ถึงแม้จะมีบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ แต่ก็ให้เราอ่านผ่านๆ ไปก่อน อ่านให้จบให้เข้าใจภาพรวมของทั้งเล่ม หลังจากนั้นเราค่อยกลับไปอ่านให้ละเอียดอีกรอบ ซึ่งมันจะทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้น

การอ่านเพื่อตรวจสอบเป็นเทคนิคการอ่านที่ช่วยให้เรารู้ว่า หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร เป็นหนังสือประเภทอะไร ทำให้เราซึมซับพื้นฐานเบื้องต้นได้ในเวลาที่จำกัด

ก่อนที่เราจะอ่านหนังสือทั้งเล่ม เราจะไม่รู้ว่าหนังสือมันจะประโยชน์หรือเปล่า การอ่านผ่านๆ จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่า เราจะใช้เวลาอ่านทั้งเล่มหรือเราควรจะซื้อหนังสือเล่มนี้หรือเปล่า

การอ่านผ่านๆ เริ่มจากอ่านทีละส่วน เริ่มจากชื่อหนังสือ สารบัญ และคำนำ อ่านข้ามบางบทหรือข้ามบางหน้า เปิดไปอ่านส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจ มันจะช่วยให้เรารู้ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเราหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เราก็จะไม่ต้องซื้อ

ถ้าเราตัดสินใจได้แล้วว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเรา เราถึงจะใช้เวลาอ่านมันทั้งเล่ม แต่การอ่านครั้งแรก เราไม่ต้องทำความเข้าใจทุกอย่างในหนังสือ อาจจะมีบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ เราจะปล่อยมันไป การรู้ว่าหนังสือมันเกี่ยวกับอะไร จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาตอนที่เราอ่านซ้ำจริงจังอีกรอบ

การอ่านเพื่อวิเคราะห์

การอ่านในระดับนี้ คือการค้นหาโครงสร้างและการเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือ การตัดสินและการอ้างเหตุผลของคนเขียน การอ่านในระดับนี้เราจะอ่านเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และจำเป็นต้องเพิ่มความตั้งใจให้มากขึ้น ไม่ว่ามันจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน เราจะใช้คำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยในเวลาที่เราอ่านเพื่อวิเคราะห์

หนังสือทั้งเล่มมันเกี่ยวกับอะไร

วิธีที่เร็วและง่ายที่จะจำแนกหนังสือคือการดูจากภาษาที่คนเขียนใช้หรือดูจากชื่อหนังสือ หลังจากจำแนกหนังสือได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องเน้นไปที่เนื้อหา ถึงจุดนี้เราต้องรู้ว่าแต่ละประเด็นมันเกี่ยวข้องกับทั้งเล่มยังไง โดยการสรุปเนื้อหาและค้นหาประเด็นต่างๆ ให้ได้

เริ่มวิเคราะห์หนังสือด้วยการดูว่าคนเขียนต้องการนำเสนออะไร แล้วเค้ามีวิธีที่จะค่อยๆ ทำให้เราเข้าใจประเด็นหลักยังไง

เริ่มจากการตรวจสอบชื่อหนังสือ คำนำและสารบัญ แล้วดูว่ามันเป็นหนังสือประเภทอะไร หมวดหมู่อะไร เป็นหนังสือทางทฤษฎีหรือปฏิบัติ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้หรือให้คำแนะนำแนวทาง

หลังจากนั้นค่อยค้นหาหาธีมหลักของหนังสือ เป้าหมายของคนเขียน และโครงสร้างของหนังสือ เราควรจะสรุปประเด็นหลักของหนังสือออกมาเป็นคำพูดของเราเองได้ ดูว่าแต่ละประเด็นมันเกี่ยวข้องกันยังไง หลังจากที่เราคุ้นเคยกับหนังสือ การอ่านแบบวิเคราะห์ก็จะเหมือนกับการเคี้ยวและการย่อยเนื้อหาในหนังสือ

ถ้าเรารู้ว่าหนังสือมันเกี่ยวกับทฤษฎี เราก็จะรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นมันจะ Abstract มากกว่าหนังสือแนะนำประเภท How-to ในหนังสือคณิตศาสตร์ ก็จะไม่มีอะไรเกี่ยวกับชีวิต หรือคำแนะนำในการดำเนินชีวิต

การจะรู้ว่าเราเข้าใจสิ่งที่คนเขียนต้องการจะสื่อ เราควรจะสรุปออกมาเป็นคำพูดของเราเอง

สุดท้ายคือรู้ว่าคนเขียนตั้งใจอยากจะให้เราได้อะไรจากการอ่าน ให้เราลองสรุป ดูว่ามีคำถามอะไรบ้างที่คนเขียนต้องการจะตอบ หรือมีปัญหาอะไรที่คนเขียนต้องการจะแก้

คนเขียนพูดถึงอะไรและนำเสนอยังไง

ขั้นตอนนี้เราจะต้องดูให้ละเอียดลึกไปถึงส่วนย่อย เพื่อให้แนวคิด ความเห็นและการใช้เหตุผลมันเผยออกมา

เราต้องเข้าใจคนเขียน คนเขียนหนังสือคือคนที่ต้องการขายไอเดีย การที่เราจะบอกได้ว่าหนังสือเล่มไหนดี เราจะต้องเข้าใจคำศัพท์ที่คนเขียนใช้และการใช้เหตุผลสนับสนุนแนวคิด วิธีที่ดีที่สุดคือการการเจาะแนวคิด หรือคำที่เป็นศูนย์กลางของเนื้อหาทั้งหมด

  • คำหลัก หาคำหรือคีย์เวิร์ดที่สำคัญๆ ในหนังสือ มองหาได้ง่ายเพราะมักจะทำ ตัวหนา ตัวใหญ่ หรือขีดเส้นใต้ ดูว่าคนเขียนเค้าหมายถึงอะไร และใช้คำนั้นแบบไหน คนเขียนใช้ภาษาแบบไหน คำบางคำที่เราอ่านเจอทั่วๆ ไป อาจจะมีความหมายต่างจากคำที่คนเขียนใช้ในหนังสือก็ได้
  • ประโยคหลัก หาประโยคที่สำคัญในหนังสือ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญของคนเขียน ที่มันมีความหมายมากที่สุด อาจจะเป็นคำถามที่คนเขียนต้องการจะหาคำตอบ และคำตอบนั้นคนเขียนมักจะต้องหาคำอธิบายหรือหาหลักฐานหรือยกตัวอบ่างเพื่อสนับสนุน ให้ลองหาประโยคที่เราอ่านแล้วยังไม่เข้าใจเต็มที่ เป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจแนวคิดที่สำคัญของคนเขียน ให้ลองอธิบายเป็นคำพูดของเราเอง ให้ลองยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ จนกว่าเราจะพอใจ
  • การใช้เหตุผล การใช้เหตุผลเพื่อให้ได้ข้อสรุป คนเขียนอาจจะใช้ประโยคที่ซับซ้อน หรือขยายความออกไปหลายย่อหน้า หรือหลายหน้า ให้เรารวบรวมมันไว้ด้วยกัน แล้วทบทวนอีกรอบ จะทำให้เราเข้าใจทั้งหมดได้ดีพอที่จะสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ได้

มันจริงหรือเปล่า

เนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนในหนังสือมันจริงหรือเปล่า จากการวิเคราะห์ เราจะรู้คำตอบหรือแนวทางในการแก้ปัญหา แต่ก็อาจจะยังมีสิ่งที่เป็นปริศนาหลงเหลืออีก ให้เราวิจารณ์หนังสือและตัดสินในสิ่งที่เราอ่าน แล้วดูว่ามันจริงหรือเปล่า

เพื่ออะไร

การถามคำถามนี้จะช่วยให้เราประเมินความสำคัญของหนังสือได้ เราจะรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นมันสำคัญยังไง หลังจากที่เรามั่นใจว่าเข้าใจทุกสิ่งที่คนเขียนต้องการจะสื่อ ให้เราตัดสินใจว่า

  • เราเห็นด้วยกับคนเขียนหรือเปล่า ถ้าเราเห็นด้วยแสดงว่าจบการวิเคราะห์เท่านี้
  • ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับคนเขียน ให้ระงับอารมณ์ จะได้ใช้เหตุผลได้เต็มที่ เรามีเหตุผลของเรา คนเขียนก็เช่นกัน เค้าก็มีเหตุผลของเค้า อย่าใช้ความรู้สึกตัดสิน ให้เราพยายามเข้าใจมุมมองของคนเขียน
  • ไม่ตัดสิน การที่เราไม่ตัดสินก็อาจจะมองได้ว่า เนื้อหาหรือข้อมูลหลักฐานไม่แน่นพอ

ถ้าเราเห็นต่างจากคนเขียน เราก็ควรจะแย้ง เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งที่คนเขียนลืมไปก็ได้ หรือคนเขียนอาจจะเริ่มต้นด้วยแนวคิดบางอย่าง แล้วตอนท้ายอาจจะเขียนสรุปตรงกันข้ามกับตอนแรกก็ได้

ก่อนที่เราจะวิจารณ์หนังสือได้ เราต้องอ่านและเข้าใจเนื้อหาให้ละเอียด วิจารณ์หนังสือด้วยความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่โน้มเอียง ไม่เข้าข้าง เราไม่ควรวิจารณ์หนังสือถ้าเรายังไม่เข้าใจสิ่งที่คนเขียนต้องการจะสื่อ

ถ้าเราสรุปได้ว่าแนวคิดนั้นมันน่าสนใจ มันน่าเชื่อถือ มันก็ง่ายที่จะทำให้เราเห็นด้วยกับคนเขียน

เราไม่จำเป็นต้องเห็นต่างเพราะหลักการเพียงอย่างเดียว

การอ่าน เพื่อเปรียบเทียบ

การอ่านเพื่อเปรียบเทียบ โดยการอ่านหนังสือที่คล้ายกัน หลายๆ เล่ม เวลาที่เราต้องเขียนรายงานหรือบทความ เราจะไม่เขียนมันจากหนังสือเล่มเดียว แต่เราจะเลือกหลายๆ เล่ม จากหลายๆ ต้นทาง

การอ่านเพื่อเปรียบเทียบจะต้องมีหนังสือหลายเล่ม ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน เวลาที่เราอ่านเพื่อเปรียบเทียบ เราจะสามารถค้นหาหัวข้อที่เราอยากจะเขียน และเลือกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเปรียบเทียบหรือเรียบเรียง

ให้เราใช้ขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อเปรียบเทียบหนังสือ

  • หาส่วนที่ดีของหนังสือ เป้าหมายของเราไม่ใช่เพื่อทำความเข้าใจหนังสือทั้งเล่ม แต่เป็นการใช้บางส่วนของหนังสือเพื่อที่เราจะเอาไปใช้แก้ปัญหาหรือตอบคำถาม ใช้การอ่านเพื่อตรวจสอบเพื่อค้นหาส่วนที่เราต้องการในหนังสือ
  • กำหนดคำหลักหรือคีย์เวิร์ด คำที่มีความหมายเดียวกันหรือที่ใช้อธิบายแนวคิดเดียวกัน คนเขียนอาจจะใช้คำที่ต่างจากเราหรือต่างจากคนเขียนอื่นๆ ให้เรากำหนดคำกลางๆ ที่ไม่เฉพาะเกินไปเพื่อให้เรารวบรวมแนวคิดจากหนังสือหลายๆ เล่มได้
  • เสนอแนวคิดหรือความเห็นของเราแบบกลางๆ ที่ไม่ได้มาจากมุมมองของคนเขียนคนใดคนหนึ่ง
  • ปัญหาแต่ละอย่างที่คนเขียนแต่ละคนมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ต่างกัน ให้เราเปรียบเทียบและหาความแตกต่าง หาสิ่งที่คนเขียนมีความเห็นต่างกัน
  • วิเคราะห์จัดเรียงแต่ละหัวข้อว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง

ตรวจดูชื่อเรื่อง ปก สารบัญ และดัชนี หลังจากที่เรารู้โครงสร้างของหนังสือแล้ว เราก็จะวิเคราะห์ได้ เราจะเข้าใจว่าคนเขียนแต่ละคนพูดถึงหัวข้อเดียวกันแตกต่างกันอย่างไร และเค้าเริ่มพูดถึงหัวข้อนั้นยังไง เราจำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อจะเข้าใจความรู้ลึกของแนวคิด

ความแตกต่างของการอ่านเพื่อเปรียบเทียบกับการหาโครงสร้างและวิเคราะห์หนังสือเล่มเดียวคือ

การอ่านเพื่อเปรียบเทียบ หัวข้อคือสิ่งที่เราจะวิเคราะห์ เราต้องการแนวคิดหรือความเห็นของคนเขียนที่มีมุมมองต่างกัน

ดังนั้นการทำความเข้าใจภาพรวมของหนังสือทั้งเล่มจึงไม่จำเป็น มันจะต่างจากการอ่านเพื่อวิเคราะห์ มันเพียงพอที่จะอ่านข้อความบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายงานหรือบทความที่เราจะเขียน

ความสำคัญของการอ่าน ทำไมต้องฝึกการอ่านอย่างจริงจัง

ทักษะการอ่านขั้นสูงจำเป็นต้องใช้ความพยายามและต้องทำตามขั้นตอนต่างๆ แต่ก็ทำให้เราได้เข้าใจ ได้ฝึกการตรวจสอบ การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ ซึ่งจะเปิดทางให้เราเข้าใจหนังสือที่มีเนื้อหายากๆ ได้ หนังสือที่มันจะสอนเราและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา

แทนที่เราจะเห็นด้วยกับคนเขียนทุกอย่าง เราต้องหัดตั้งคำถาม มองหาจุดผิดที่คนเขียนอาจจะละเลย ดูว่าแนวคิดของคนเขียนมันสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนจบหรือเปล่า การตั้งใจอ่านจะช่วยให้เราวิเคราะห์และประเมิินหนังสือได้อย่างฉลาด

เราควรจะปรับเปลี่ยนหลักการเหล่านี้ตามความเหมาะสม เช่น หนังสือแต่ละประเภทที่เราอ่าน เราต้องดูก่อนว่าหลักการพวกนี้มันใช้ได้หรือเปล่า

หนังสือแต่ละประเภทมันจะมีโครงสร้างเนื้อหาและสร้างแรงบันดาลใจแตกต่างกัน โดยเฉพาะนิยายที่มักจะต้องอาศัยประสบการณ์ของคนอ่าน เพราะในแง่ศิลธรรมมันไม่มีมาตรฐานสากล

โครงสร้างที่เราจะพบได้จากหนังสือแต่ละประเภทก็จะต่างกันออกไป เช่น ในหนังสือปรัชญา เราก็จะเห็นลำดับของการเสนอแนวคิดและการโต้แย้ง ต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่เราจะอ่านเจอการวิเคราะห์เชิงข้อมูลมากกว่า

บางครั้งการอ่านหนังสืออย่างเดียวมันไม่พอที่จะทำให้เราเข้าใจ แต่เราต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวและอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย

 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


bookcenter

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ไม่ระบุ