การเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์

'บทความเป็นความเรียงที่มีลักษณะพิเศษผิดจากความเรียงธรรมดา กล่าวคือ เป็นความเรียงที่เขียนขึ้นโดยมีหลักฐานข้อเท็จจริง และในเนื้อหานั้น ผู้เขียนได้แทรกข้อเสนอแนะเชิงวิจารณ์ หรือสร้างสรรค์ซึ่งเป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอาไว้ด้วยเอาไว้ด้วย บทความจึงเป็นรูปแบบการเขียนอีกชนิดหนึ่ง ที่นักประชาสัมพันธ์สามารถใช้เขียนเชื่อมโยงหน่วยงาน องค์กร และสถาบันเข้ากับกลุ่มประชาชนเป้าหมายได้'

ความหมายของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2546, หน้า 453) ได้ให้ความหมายของบทความว่า 'บทความ น. ข้อเขียนซึ่งอาจจะเป็นรายงานหรือการแสดงความคิด มักตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ วารสาร สารานุกรม เป็นต้น'

สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ (2531, หน้า 79) ได้กล่าวถึงบทความว่า เป็นงานเขียนที่เป็นงานเป็นการ ไม่ควรเขียนทีเล่นทีจริง ควรเขียนด้วยความประณีตและคามรับผิดชอบ สาระสำคัญของบทความคือ การแสดงทัศนะต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยอาศัยความรู้แจ้งเป็นพื้นฐาน

อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต (2542, หน้า 57) กล่าวว่า บทความ คือ ข้อเท็จจริง สาระ และความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เขียนขึ้น เพื่อให้ข้อมูลให้ความรู้

สิริวรรณ นันทจันทูล (2543, หน้า 124) กล่าวว่า บทความ คือ ความเรียงประเภทหนึ่ง ซึ่งมีจุดประสงค์หลายลักษณะ เช่น เพื่อแสดงความรู้ เสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่า ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

อวยพร พานิช และคณะ (2543, หน้า 219) กล่าวว่า บทความ คือ ความเรียงร้อยแก้วหรือข้อเขียนที่ประกอบด้วยความรู้และความคิดเห็น

ฉะนั้น บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์จะเป็นความเรียงที่นักประชาสัมพันธ์เขียนขึ้น โดยหยิบยกความรู้ที่เป็นประโยชน์และเป็นประเด็นที่เป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายมาเขียน โดยเผยแพร่ได้ทั้งทางสื่อภายใน เช่น จุลสาร วารสาร หรือติดประกาศภายในหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน และเผยแพร่ทางสื่อภายนอก เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และแสดงให้กลุ่มเป้าหมายเห็นว่า หน่วยงาน องค์กร และสถาบันมีความห่วงใย นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะส่งเสริมความเข้าใจที่ดี รวมทั้งสร้างให้เกิดความเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยงาน

 ลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์กับข่าวแจก

 เพื่อให้เข้าใจลักษณะของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยชัดเจน จึงจะเปรียบเทียบบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์กับข่าวแจกที่ได้ศึกษาไปแล้ว ทั้งนี้บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์แตกต่างจากข่าวแจก ดังนี้

1. โครงสร้างของการเขียน 

 บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่มีโครงสร้างของการเขียนเหมือนกับเรียงความ คือ มีโครงสร้างของการเขียนแบบพีระมิดหัวตั้ง     โครงเรื่องจะประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ มีคำนำเป็นส่วนปูพื้นดึงความสนใจของผู้รับสาร มีเนื้อเรื่องและใจความเป็นรายละเอียดของเรื่องราวเพื่อเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นต่าง ๆ และมีสรุป คำลงท้ายหรือบทส่งท้ายเพื่อสรุปประเด็นหรือขมวดจุดสำคัญของเรื่อง

 ส่วนข่าวแจกส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างของการเขียนแบบพีระมิดหัวกลับเป็นการเสนอเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สาระสำคัญของข่าวแจกจะอยู่ที่ความนำ อันเป็นย่อหน้าแรกของการเขียนข่าว ส่วนย่อหน้าต่อ ๆ มา มีความสำคัญลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงย่อหน้าสุดท้ายอาจตัดทิ้งไปได้โดยไม่เสียความถ้าเนื้อที่กระดาษจำกัด 

2. ความมุ่งหมายของการเขียน

 บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้นเขียนขึ้นเพื่อเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องหรือเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม ส่วนข่าวแจกเป็นการเขียนเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่เพียงประการเดียว ไม่นิยมสอดแทรกความคิดเห็นลงในข่าวแจก หากต้องการเสนอความคิดเห็นก็จะเขียนเป็นข้อเขียนรูปแบบอื่น ๆ เช่น บทวิเคราะห์ บทวิพากษ์วิจารณ์ บทบรรณาธิการ รวมทั้งบทความแทน

 3. เนื้อเรื่อง

 บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์เขียนในเนื้อหาอะไรก็ได้ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้รับสารกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน แต่ควรจะเป็นเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องตรงกับความต้องการของผู้รับสาร รวมทั้งมีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ และยังอยู่ในความสนใจของผู้รับสารในขณะนั้น

ส่วนข่าวแจกสามารถจะนำเหตุการณ์และข้อเท็จจริงในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมมาเขียน เพียงแต่ให้เหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง หรือสามารถเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันในด้านดี

4. วิธีเขียน

  วิธีเขียนข่าวแจกนั้นส่วนมากเป็นการเขียนแบบเรียบ ๆ ไม่จำเป็นต้องโลดโผน แต่เขียนสื่อความให้เข้าใจ โดยตอบปัญหาที่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร และต้องเสนอข่าวเท่าที่เกิดขึ้นจริง เขียนอย่างสั้นและตรงไปตรงมา ไม่มีข้อคิดเห็นของผู้เขียน ไม่มีแม้แต่ชื่อผู้เขียนข่าว และควรเป็นข่าวสดใหม่ถ้าเป็นไปได้ เป็นการเขียนที่ไม่แสดงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เขียน ผู้รับสารจะไม่รู้เลยว่าผู้เขียนเป็นบุคคลชนิดใด รู้สึกนึกคิดอย่างไร

    ส่วนการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์จะต้องมีวิธีการเขียนที่ละเอียดแยบยล ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อชวนให้อ่าน ให้ติดตามเนื้อเรื่อง

เขียนใน GotoKnow
 โดย 
 ใน การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์

ที่มา https://www.gotoknow.org/posts/276405 

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Information

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ไม่ระบุ