RoHS มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย
RoHS (Restriction of Hazardous Substances) เป็นข้อกำหนดที่ 2002/95/EC ของสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยเรื่องของการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ระบุปริมาณของสารอันตรายที่ใช้ โดยสารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 6 ชนิด ดังนี้
1.ตะกั่ว
(Pb) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
2.ปรอท (Hg) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
3.แคดเมียม (Cd) ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก
4.เฮกซะวาเลนท์
(Cr-VI) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
5.โพลีโบรมิเนต
ไบเฟนนิลส์ (PBB) ไม่เกิน
0.1% โดยน้ำหนัก
6.โพลีโบรมิเนต
ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
ทั้งนี้ จะไม่ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนสำหรับงานซ่อมแซมหรือการนำกลับไปใช้ใหม่ของเครื่อง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่วางตลาดก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 และสำหรับอุปกรณ์ที่ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ตะกั่วในเหล็กอัลลอย นอกจากนี้ เครื่องมือด้านการแพทย์ และการทหาร ก็อยู่ในข้อยกเว้น
แม้ว่า RoHS จะเป็นข้อบังคับที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ซื้อขายกันในสหภาพยุโรป แต่ในประเทศอื่นเช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ก็เริ่มที่จะกำหนดข้อบังคับในลักษณะนี้มากขึ้น
สำหรับนักอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นผู้ออกแบบวงจร สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free หรือ RoHS ได้ โดยผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกยี่ห้อ มักจะผลิตอุปกรณ์รุ่นที่เป็น Pb-Free ออกมาทดแทนอุปกรณ์รุ่นเก่า แต่ยังคงมีฟังก์ชันการทำงานเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สิ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถทนความร้อนสูงที่ใช้ในกระบวนการประกอบแผงวงจรได้ เนื่องจากสารที่ใช้เชื่อม (ตะกั่ว) ที่เป็นแบบ Pb-Free นี้ จะมีจุดหลอมเหลวที่สูงขึ้นกว่าแบบที่ไม่เป็น Pb-Free และยังสามารถบัดกรีด้วยตะกั่วแบบธรรมดาได้
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการพูดถึงข้อกำหนดในลักษณะนี้มากนัก ดังนั้น หากท่านไม่ได้เป็นผู้ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าไปขายในต่างประเทศ ก็ยังไม่ต้องวิตกกังวล แต่ก็ควรจะศึกษาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อและใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตอุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free ก็คงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และทดแทนอุปกรณ์แบบเก่าจนหมดไป