นักเรียนอาชีวศึกษาจะเลือกสถานที่ฝึกงานอย่างไร

นักเรียนอาชีวศึกษาจะเลือกสถานที่ฝึกงานอย่างไร

นักเรียนนักศึกษาที่เรียนสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา นอกจากจะมีการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติงานแล้ว การฝึกงานก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องนี้ จึงจะเห็นว่า สถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็มีข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกงานไว้หลายประการด้วยกัน รวมถึงสถานศึกษาของเอกชนก็คงจะเป็นเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างกัน คือ เมื่อจัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา การฝึกงานก็คงจะต้องเป็นสิ่งสำคัญประการแรก ๆ ที่ต้องคำนึงถึง

ในส่วนของสอศ. ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นนั้น ก็คือ การจัดให้มีการดูงานในสถานประกอบการ ในสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่สองของการเปิดภาคเรียน (หนังสือที่ ศธ 0606/1066 ลงวันที่ 7 เมษายน 2549) ซึ่งนักเรียนนักศึกษาจะได้เตรียมตัวเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต เกิดทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ ได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะมีในอาชีพนั้น ๆ รวมตลอดถึงการกำหนดวิธีการฝึกงานแบบต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นการฝึกงาน 1 ภาคเรียน, การฝึกงานโดยนำรายวิชาไปฝึก, การฝึกงานโดยนำรายวิชาฝึกงาน (ปวช. 2000-7001, ปวส. 3000-7001) หรือการฝึกอาชีพของระบบทวิภาคี (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง 'การฝึกงานแบบใหม่ทำอย่างไร')

ดังนั้น ในการเลือกสถานที่ฝึกงานคงจะเป็นโจทย์แรกให้นักเรียนนักศึกษาได้ขบคิดว่า จะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินหาสถานประกอบการ ข้อเสนอแนะที่ควรนำมาพิจารณาต่อไปนี้ ก็คงจะเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาได้เตรียมตัวเบื้องต้นสำหรับการเลือกสถานที่ฝึกงาน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ในเรื่องการฝึกงานอ่านได้ที่ 'การเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียน/นักศึกษาฝึกงาน'

ควรหาสถานฝึกงานเอง ซึ่งอยู่ภายในจังหวัดหรือใกล้กับที่พักนักเรียนนักศึกษาช่วงที่ฝึกงาน เพราะสถานศึกษาบางแห่งมีข้อจำกัดในการนิเทศ ทั้งจำนวนครูนิเทศ ยานพาหนะหรืองบประมาณค่าใช้จ่ายในการนิเทศ ทั้งนี้จะต้องมีข้อมูลเบื้องต้นว่า สถานศึกษามีข้อกำหนดในการเลือกสถานประกอบการหรือไม่ เพราะบางแห่งอาจจะไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องดังกล่าว ยินดีที่จะให้ฝึกงานต่างจังหวัดหรือภูมิลำเนาของนักเรียนได้ การหาสถานฝึกงานเองเป็นการเพิ่มประสบการณ์ในการสมัครงาน การเตรียมการสัมภาษณ์งาน รวมถึงการเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เหมาะสำหรับการจัดการเรียนที่นำเอาวิชาฝึกงาน (2000-7001, 3000-7001)

เลือกสถานประกอบการที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับสาขางานที่เรียน นักเรียนนักศึกษาจะได้เกิดทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ ได้ฝึกทักษะเพิ่มในสาขาที่เรียน หรือกรณีที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก็สามารถได้ฝึกจากของจริง หรือในการทำงานซ้ำ ๆ จนเกิดความชำนาญในอาชีพนั้น ๆ ตลอดจนได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือที่แตกต่างออกไป เหมาะสำหรับการฝึกงานที่นำรายวิชาไปฝึก, วิชาฝึกงาน (2000-7001, 3000-7001) และวิชาของระบบทวิภาคี

การเดินทางสะดวก ทั้งสำหรับนักเรียนนักศึกษาเองและครูที่นิเทศ ถ้านักเรียนนักศึกษา ก็จะมองในแง่ของค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางที่จะไม่เหนื่อยเมื่อไปหรือกลับจากการฝึกงาน ด้านความปลอดภัยนั้น นักเรียนนักศึกษาต่างจังหวัดส่วนใหญ่ใช้จักรยานยนต์ในการเดินทาง ความเสี่ยงจากยานพาหนะบนท้องถนนหรือของเส้นทางนั้น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึง บางสถานศึกษากำหนดให้มีการฝึกงานช่วงฤดูฝน ก็เป็นข้อจำกัดที่สถานศึกษาไม่ควรจะมองข้าม เพราะก็มีนักเรียนนักศึกษาบางส่วนนอกจากจะไม่สะดวกแล้วปัญหาสุขภาพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ในทำนองเดียวกันความสะดวกนั้นก็จะเกิดกับครูนิเทศ ความถี่ในการดูแลและการนิเทศก็คงจะเพิ่มมากขึ้น เพราะจุดนี้จะได้รับการท้วงติงจากสถานประกอบมาโดยตลอด

ไม่เลือกสถานที่เดิมจากที่เคยฝึกในระดับ ปวช. ข้อนี้สำหรับ นักศึกษา ปวส. ที่คงจะต้องมุ่งประเด็นไปที่สถานประกอบการซึ่งสถานศึกษายังไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ชัดเจน เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่การมอบหมายงานจะเป็นงานเดิม ไม่มีการหมุนเวียนงาน แต่หากสถานศึกษาได้สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนแล้ว ในเรื่อง การฝึกงานแบบต่าง ๆ การมอบหมายงานก็จะแตกต่างกันทั้งระดับปวช. ปวส. และปริญญาตรี รวมถึงลักษณะงานที่เฉพาะเจาะจงกับสาขางานที่ นักเรียนนักศึกษาได้เรียนหรือเคยฝึกทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติเบื้องต้นมาแล้ว

ไม่ตามเพื่อน บางครั้งตามเพื่อนต่างสาขางานหรือนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก สถานประกอบการก็เกิดความเกรงใจสถานศึกษา รับเข้าฝึกงานทั้งหมด ทีนี้ทั้งสองฝ่ายก็เกิดไม่เกิดความไม่สมดุลกัน งานก็ไม่ตรงกับสาขางาน จำนวนคนก็มาก แทนที่จะไปสร้างงานกลับไปเพิ่มภาระให้กับสถานประกอบการ ก็จะเป็นการฝึกงานที่ได้แค่ประสบการณ์ในการทำงานไม่ลงลึกในรายละเอียดของสาขางานอาชีพนั้น ๆ นักเรียนนักศึกษาจะต้องคิดเสมอว่า ไม่ว่า จะเข้าไปทำงานหรือฝึกงาน สถานประกอบการส่วนใหญ่ก็จะมอบหมายงานให้แต่ละคนรับผิดชอบ การพูดคุยปรึกษากับเพื่อนๆ คงไม่ใช่เป็นลักษณะที่พึงประสงค์ของการทำงานสำหรับบางหน่วยงาน โดยเฉพาะงานในสำนักงาน

สถานที่ฝึกงานที่มีชื่อเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมโยงไปสู่การได้งานทำในอนาคต ปัจจุบันมีหน่วยงานใหญ่ๆ หลายแห่งที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกงาน ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์ที่ต้องการตอบแทนสังคม การวางแผนกำลังคนในอนาคตว่า สามารถรับกลุ่มที่เคยปฏิบัติงานไปแล้วซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเบื้องต้นไปได้ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาสามารถนำไปอ้างอิงได้เมื่อจบการศึกษาแล้วไปสมัครงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการที่เล็กๆ แต่มีการหมุนเวียนงานได้งานครบทุกอย่างและเข้าใจระบบการฝึกงานของอาชีวศึกษา ก็น่าจะเป็นข้อพิจารณาข้อต้น ๆ สำหรับการฝึกงาน โดยเฉพาะการฝึกงานต่างจังหวัดหรือจังหวัดเล็ก ๆ ด้วยเช่นกัน



สถานที่ฝึกงานจากคำแนะนำ หาข้อมูลจากรุ่นพี่ของแต่ละสาขา เพื่อนต่างสาขา ผู้ปกครอง ครูที่ปรึกษา ครูที่รับผิดชอบการนิเทศงาน สถานศึกษาบางแห่งมีการรวบรวมสถานที่ฝึกงาน ลักษณะงาน จำนวนนักเรียนนักศึกษาที่สถานประกอบการนั้น ๆ ต้องการ โดยให้นักเรียนนักศึกษาไปติดต่อขอฝึกงานเอง ส่วนใหญ่จะเป็นสถานประกอบการที่สถานศึกษาได้ทำการติดต่อหรือได้สำรวจความต้องการไว้แล้วและจะเป็นสถานฝึกงานที่เคยรับนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกงานมาก่อน ก็จะทำให้การฝึกงานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ เพราะอาจจะมีครูฝึกที่รับผิดชอบงานฝึก ยิ่งเป็นสถานประกอบการที่มีประสบการณ์รับนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งระบบปกติและระบบทวิภาคีก็จะเข้าใจการฝึกงานได้ดี

สถานที่ฝึกงานที่มีงานเฉพาะสาขางาน แต่ไม่ได้อยู่ภายในจังหวัด ควรขอคำแนะนำจากสถานศึกษาหรือครูนิเทศ ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่าย ที่พัก และความปลอดภัย โดยเฉพาะการฝึกงานคงต้องได้รับคำอนุญาตเห็นชอบจากผู้ปกครอง ดังนั้น การสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองตั้งแต่เริ่มแรก จากการปฐมนิเทศหรือย้ำเตือนให้นักเรียนนักศึกษาแจ้งให้ผู้ปกครองทราบก่อนที่จะมีการฝึกงานล่วงหน้าอีกครั้ง ว่านักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาต้องมีการฝึกงาน รวมถึงรายละเอียดในการฝึก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนระยะเวลาการฝึก ช่วงภาคเรียน ระดับชั้น ลักษณะงานบางงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับชายหรือหญิง เป็นต้น

จากการที่กล่าวข้างต้น คงจะเป็นองค์ประกอบคร่าว ๆ ที่นักเรียนนักศึกษาจะนำมาพิจารณาในการเลือกสถานประกอบการ ยังมีข้ออื่น ๆ ไม่ว่าจะมีสถานประกอบการที่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ หรือ สถานประกอบการบางแห่งที่ยินดีรับนักเรียนนักศึกษาฝึกเป็นรายชั่วโมงหลังเลิกเรียน ก่อนที่จะฝึกจริงตามข้อกำหนดของสถานศึกษา เคยได้ข้อสังเกตบางประการอันได้แก่ บางสถานศึกษามีการกำหนด เฉพาะสถานประกอบการไว้ และไม่ให้อิสระในการเลือกสถานประกอบการ หรือเลือกเฉพาะงานหน่วยงานราชการให้นักเรียนสาขาพณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ ซึ่งงานของบางหน่วยงานก็ไม่ได้เหมาะกับสาขาวิชานั้น ๆ

อีกทั้งนักเรียนนักศึกษาที่ทางสถานศึกษา พิจารณาแล้วว่า มีปัญหาก็ให้ฝึกงานในสถานศึกษานั้น ๆ เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ ก็อาจจะไม่ได้พบประสบการณ์ตรงจากสถานประกอบการ จนทำให้นักเรียนนักศึกษาขาดโอกาสที่จะเผชิญกับโลกการทำงานจริง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ก็คงต้องมองทั้งสองด้านไม่เข้าข้างใคร เพราะประสบการณ์จากการส่งฝึกงานที่สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ไม่พร้อม ก็สร้างปัญหาและภาระให้กับทั้งสถานศึกษาและสถานประกอบการตลอดมาเช่นกัน

ที่มา http://www.nsdv.go.th/pr/text2007/selectcompany.htm

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


dvt

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ไม่ระบุ