4G
เทคโนโลยี 4G
เทคโนโลยี 4จี เป็นเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงชนิดพิเศษ หรือเป็นเส้นทางด่วนสำหรับข้อมูลที่ไม่ต้องอาศัยการลากสายเคเบิล โดยระบบเครือข่ายใหม่นี้ จะสามารถใช้งานได้แบบไร้สาย รวมถึงคุณสมบัติการเชื่อมต่อเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติ (three-dimensional) ระหว่างผู้ใช้โทรศัพท์ด้วยกันเอง นอกจากนั้น สถานีฐาน ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง และมีต้นทุนการติดตั้งที่แพงลิ่วในขณะนี้ จะมีให้เห็นกันอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับหลอดไฟฟ้าตามบ้านเลยทีเดียว สำหรับ 4จี จะสามารถส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สายด้วยระดับความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้นถึง 100 เมกะไบต์ต่อวินาที ซึ่งห่างจากความเร็วของชุดอุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ระดับ 10 กิโลบิตต่อวินาที
ลักษณะเด่นของ 4G
4G คือ Forth Generation ซึ่งในบ้านเรายังไม่มีให้เห็นกัน เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีสื่อสารในยุค 4G เรื่องความเร็วนั้นเหนือกว่า 3G มาก คือทำความเร็วในการสื่อสารได้ถึงระดับ 20-40 Mbps เมื่อเทียบกับความเร็วที่ได้จาก 3G นั้นคนละเรื่องกันเลย ที่ญี่ปุ่นนั้นเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใช้เทคโนโลยี 4G สามารถให้บริการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านมือถือได้แล้ว หรือจะโหลดตัวอย่างภาพยนตร์มาชมบนโทรศัพท์มือถือก็มีให้เห็นเช่นกัน ทำไมญี่ปุ่นถึงรีบกระโดดไปสู่ยุค 4G กันเร็วเหลือเกิน คำตอบง่าย ๆ ก็คือ “ดิจิตอลคอนเทนต์” เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นนั่นเอง เมื่อผู้ให้บริการหลายหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายที่มีความเร็วสูง สามารถรับส่งข้อมูลได้ในปริมาณมาก ๆ ดังนั้น การผลักดันตัวเองให้เข้าสู่ยุค 4G ที่ใช้เทคโนโลยีที่เหนือกว่า 3G ก่อนคู่แข่ง น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด
ความโดดเด่นของ 4G คือ ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนเครือข่ายที่กินพื้นที่กว้างก็ได้หรือจะทำเป็นเครือข่ายขนาดย่อม ๆ แบบ WLAN ได้อีกด้วย นั่นจึงทำให้หลายคนมองว่า 4G จะมาเบียดเทคโนโลยีของ Wi-Fi หรือไม่ เพราะสามารถใช้งานได้ทั้งสองแบบ
อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังคงอิงกับมาตรฐานของ 3G อยู่ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะขยับขยายไปสู่ยุค 4G เลย เพราะว่า Wimax กำลังเข้ามานั่นเอง ระบบสื่อสารแห่งอนาคตที่ให้ความยืดหยุ่นสูง สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างไกล ความเร็วในการสื่อสารสูงสุดในขณะนี้
ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมไม่รวมเทคโนโลยี 3G กับ WiMAX เข้าด้วยกัน และพัฒนาให้เป็น “interim 4G” หรือ “4G เฉพาะกิจ” เพื่อไปเร่งพัฒนา “4G ตัวจริง” (Real 4G) กันออกมาไม่ดีกว่าหรือ จึงเป็นเสียงที่คิด
ดังๆจากหลายกลุ่มในปัจจุบัน
แน่นอนที่ว่า คงจะไม่ใช่แนวคิดของ 4G ที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้ เพราะอย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ เทคโนโลยีทั้งสองยังไม่สามารถรองรับความเร็วในการสื่อสารข้อมูลที่ดาวน์ลิงค์/อัพลิงค์ (downlink/uplink) ขณะกำลังเคลื่อนที่ในกรณีของ GSM ที่ 100 mbps/50 mbps และกรณี CDMA ที่ต้องการให้เหนือกว่า GSM โดยจะให้มีความเร็วเป็น 129 mbps/75.6 mbps
4G มาจากคำเต็มว่า ระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 4 ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ให้บริการสื่อสารไร้สาย ผู้ผลิตเครื่องอุปกรณ์ (OEMs) นักลงทุน และผู้คนในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
หมายถึงเทคโนโลยีไร้สายยุคที่ 4 ที่มุ่งเน้นการรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง (สูงกว่าระบบไร้สายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ซึ่งรวมทั้งระบบ 3G ด้วย) และให้บริการมัลติมีเดียที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทว่า ณ วันนี้ เทคโนโลยี 4G ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะยอมรับเป็นสากลได้
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เป็นองค์กรหนึ่ง ที่พยายามผลักดันอย่างมากในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีโทรคมนาคม ได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยี 4G เช่นเดียวกัน และตั้งเป้าหมายการพัฒนาไว้ว่า
• เทคโนโลยีของระบบ 4G ควรจะเข้ากันได้กับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันซึ่งมีระบบการเข้าถึงที่ค่อนข้างหลากหลาย และใช้ได้ดีกับเครือข่ายสื่อสารส่วนบุคคล (PAN)
• อัตราการรับ-ส่งข้อมูลควรทำได้ 100 Mbps สำหรับการใช้งานลักษณะเคลื่อนที่ และในปี ค.ศ. 2010 ควรทำได้อย่างน้อย 1 Gbps สำหรับการใช้งานทั่วไป
• เป็นมาตรฐานสากล แบบเปิด ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับสเปคตรัมที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกในขณะนี้
ในขณะที่มุมมองของ WWRF (Wireless World Research Forum) คาดหมายว่า เครือข่าย 4G ควรจะเป็นเครือข่ายที่สามารถทำงานบนเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ร่วมกับเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้งานอื่นๆ เช่น WiFi และ WiMAX โดยมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลตั้งแต่ 100 Mbps (สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป) จนถึง 1 Gbps (สำหรับเครือข่าย WiFi ท้องถิ่น)
ที่สำคัญคือ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งทางด้านหน่วยงาน ที่มีหน้าที่จัดทำมาตรฐาน และนักสังเกตการณ์อุตสาหกรรมว่า WiMAX น่าจะมีโอกาสแปลงกลายเป็นเทคโนโลยี 4G ที่มีความสมบูรณ์มากกว่าเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 4G ที่พยายามพัฒนากันใหม่ขณะนี้
การพัฒนาไปสู่มาตรฐาน
ย้อนกลับไปดูประวัติการพัฒนาของเทคโนโลยี 4G แล้ว จะเห็นว่าเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีหนทางการพัฒนาที่ค่อนข้างยาวนาน หลายๆ กลุ่มและหลายๆ องค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลลัพธ์สุดท้ายได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยองค์กรพัฒนามาตรฐาน (SDO - Standards Development Organizations) , สมาคมอุตสาหกรรม และบรรดาบริษัทต่างๆ (เช่น OEM)
โดย SDO ที่สำคัญๆ หลายองค์กรเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ไม่แสวงหากำไร และบางองค์กรมีฐานะเป็นองค์กรของรัฐ เช่น ETSI ในยุโรป CCSA ในจีน และ TTA ในเกาหลี สมาคม 3GPP และ 3GPP2 ก็เป็น SDO ทางอุตสาหกรรมที่พัฒนาและดูแลมาตรฐานของเทคโนโลยี 2G และ 3G อยู่ด้วยในขณะนี้
ในปีนี้ (ค.ศ.2007) ITU จะพยายามโน้มน้าวในการประชุมต่างๆ ทั่วโลกให้ช่วยกันเร่งพัฒนามาตรฐาน 4G ให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าเราจะได้เห็นมาตรฐานของ ITU ได้ก่อนหรือหลัง ค.ศ. 2010 ตามที่ ITU เคยคาดหมายไว้ก่อนหน้านี้
นิยามมาตรฐาน 4G ยังไม่เห็นชัด
กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี ซีดีเอ็มเอ (CDMA development group) หรือ CDG ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา กำลังผลักดันความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลของเทคโนโลยี 1xEV-DO ให้เป็นไปตามที่คาดหวังว่าจะได้จากเทคโนโลยี 4G
โดยใน Revision C ของกลุ่ม ได้วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีสายอากาศของ CDMA, TDM, OFDM และ MIMO (Multiple Input Multiple Output) หรือแม้แต่ SSDMA (Space Division Multiple Access) เพื่อเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดให้สูงขึ้นถึง 280 Mbps โดยเรียกมาตรฐานใหม่นี้ว่า Ultra mobile Broadband
ทางด้านบริษัท โดโคโมะ ของญี่ปุ่น และบริษัท ซัมซุง ของเกาหลี อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบต้นแบบระบบสื่อสาร 4G ที่เรียกว่า Variable Spreading Factor Orthogonal Frequency and Code Division Multiplexing หรือ VSF-OFCDM ที่สามารถทำความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลได้ถึง 100 Mb/s ขณะเคลื่อนที่ และ 1 Gb/s ในขณะอยู่กับที่ (ITU เรียกสภาพนี้ว่า “nomadic”) โดยทั้งสองบริษัทวางแผนที่จะนำเครือข่ายดังกล่าวมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกภายใน ค.ศ. 2010
อีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนา 4G ที่มีการเปิดเผยกันคือ โครงการที่เรียกว่า 3GPP LTE (Long Term Evolution) project ซึ่งเป็นชื่อที่ได้จากการริเริ่มขึ้นในโครงการ Third Generation Partnership (3GPP) Project เพื่อเพิ่มสมรรถนะของมาตรฐาน UMTS 3G
อย่างไรก็ตาม โครงการ LTE นี้ไม่ใช่มาตรฐาน แต่กำลังจะกำหนดให้เป็น “คล้าย 4G” สำหรับผู้ให้บริการ UMTS ทั้งนี้ในบรรดาเทคโนโลยีดังกล่าว องค์กรที่ทำการวิจัยหลายๆ แห่งกำลังคิดว่า 3G LTE จะเข้ามามีบทบาทมากที่สุด จนบางครั้งมีการเรียกเทคโนโลยี 3G LTE นี้ว่า 3.99G หรือไปไกลกว่านั้นเรียกว่า “Super 3G” เลยก็มี
คอขวดอยู่ที่สเปคตรัมใช้งาน
แนวทางการพัฒนาไปสู่ 4G โดยยังคงมุ่งเน้นที่บริการที่มีการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง และสามารถประยุกต์ด้านมัลติมีเดียได้กว้างขวางขึ้นนั้น จำเป็นต้องใช้สเปคตรัมความถี่วิทยุเพิ่มขึ้นด้วย ในเรื่องนี้คณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FCC) ได้อนุมัติการใช้คลื่นความถี่ 700 MHZ สำหรับการใช้งาน 4G ในสหรัฐแล้วโดยผ่านทางการประมูล
อย่างไรก็ดีการใช้แถบความถี่ดังกล่าวนี้ สำหรับบริการไร้สายเคลื่อนที่ คงจะต้องรออีกเป็นปี เนื่องจากยังมีความยุ่งยาก ในการย้ายการใช้งานของกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ที่ได้ให้ใบอนุญาตไปแล้วให้เรียบร้อยก่อน
นอกจากนี้ ยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักหากจะทำให้สามารถ ใช้สเปคตรัม 4G เช่นเดียวกันได้ทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นไปได้ยากในกรณีของเครือข่าย 2G และ 3G
ภาพรวมทางธุรกิจของ 4G
เทคโนโลยี 4G คงจะยังไม่เข้ามามีบทบาทในตลาดไร้สายในระยะเวลา 4 - 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเมื่อต้นปีนี้ (พ.ศ. 2550) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ ก็ยังคงเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะต้องลงทุนไปอีกอย่างน้อย 15 ปี คือ เทคโนโลยี GSM เดิม หรือเทคโนโลยี 3G ใหม่ๆ เช่น CDMA2000 1xEV-DO, WCDMA และ HSDPA ซึ่งให้ network capacity มากกว่า และมีค่าใช้จ่ายในการให้บริการมัลติมีเดียที่ต่ำกว่าเช่นเดียวกับการสื่อสารข้อมูลบรอดแบนด์ อีกด้วย
เห็นทีว่าเราคงต้องรอไปจนกว่า ITU และบรรดากลุ่มที่จัดทำมาตรฐานแห่งชาติ (เช่น กลุ่ม 3GPP) และสมาคม 3GPP2 จะพัฒนามาตรฐาน 4G ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ
ทำไมจึงอยากได้ 4G
เป็นคำถามที่น่าสนใจ มีเหตุผลอะไรจึงอยากได้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 4 หรือ 4G กันมาก ถ้าจะสรุปเป็นคำตอบก็คงจะได้หลายประการด้วยกัน ซึ่งจะกล่าวถึงพอเป็นสังเขปดังนี้
1. สนับสนุนการให้บริการมัลติมีเดียในลักษณะที่สามารถโต้ตอบได้ เช่น อินเทอร์เน็ตไร้สาย และ เทเลคอนเฟอเรนซ์ เป็นต้น
2. มีแบนด์วิทกว้างกว่า สามารถรับ-ส่งข้อมูลด้วยอัตราความเร็ว (bit rate) สูงกว่า 3G
3. ใช้งานได้ทั่วโลก (global mobility) และ service portability
4. ค่าใช้จ่ายถูกลง
5. คุ้มค่าต่อการลงทุนด้านโครงข่าย
พัฒนาการของ 4G สำหรับมาตรฐานต่างๆ
หากพิจารณาในบริบทของมาตรฐานเทคโนโลยีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูลาร์แบบดิจิทัลที่ใช้งานกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ คือ จีเอสเอ็ม (GSM) และ ซีดีเอ็มเอ (CDMA) แล้วสามารถสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบลำดับพัฒนาการของมาตรฐานได้ดังตารางข้างล่างนี้
ในการพัฒนาเทคโนโลยี 4G ของ GSM กับ CDMA นั้น ยังคงแข่งขันกันอยู่ต่อไป กล่าวคือ
GSM จะพัฒนาสู่ 4G โดยใช้รูปแบบการเข้าถึง (access type) เป็น UMTS LTE (Universal Mobile Telephone System – Long term Evaluation) คาดหมายว่า จะสามารถทำความเร็วในการดาวน์ลิงค์ / อัพลิงค์ได้ที่ 100 mbps / 50 mbps
ในขณะที่ CDMA ใช้รูปแบบการเข้าถึงเป็น CDMA EV-DO Rev.C (กล่าวคือ เป็น UMB หรือ Ultra-mobile broadband) และมีความเร็วในการดาวน์ลิงค์ / อัพลิงค์ที่ 129 mbps / 75.6 mbps
ตัวเลขความเร็วของทั้งสองค่ายจะเป็นราคาคุยหรือไม่คงต้องติดตามผลกันต่อไป
หาก 4G จะเกิดจากการรวม WiMax เข้ากับ 3G
ท่ามกลางกระแสการแข่งขันระหว่างเทคโนโลยี 3G ที่กำลังถูกเทคโนโลยีใหม่อย่างไวแมกซ์ (WiMAX) เข้ามาตีเสมอ และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสมาเหนือกว่า 3G อีกด้วย
นักวิเคราะห์และผู้เกี่ยวข้องในวงการโทรคมนาคมหลายกลุ่ม กล่าวกันถึงขนาดที่ว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูลาร์ของหลายประเทศที่ปัจจุบันครองตลาดส่วนใหญ่ของประเทศหรือมีอำนาจเหนือตลาดคงจะไม่ยอมให้บริการไวแมกซ์เกิดขึ้นในตลาดได้ง่ายๆ ประกอบกับบางประเทศยังมีปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการไวแมกซ์ เช่น แผนเลขหมายแห่งชาติที่มีการจัดสรรความถี่ให้กับบริการไวแมกซ์ กฎ ระเบียบในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม และความพร้อมในการลงทุนของผู้ให้บริการ เป็นต้น
หากจะรวมกันจริงๆแล้ว หลายฝ่ายยังมีความเชื่อว่า 3G คงจะไม่ถึงกับไปรวมอยู่ใต้เทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งเดียว เนื่องจาก 4G ควรจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ที่ระดับความเร็วอิเธอร์เน็ต (เช่น 10 Mbps) และใช้งานร่วมกัน (integrated) ได้ทั้งในลักษณะที่เป็นเครือข่ายท้องถิ่นหรือแลน (LAN – local area network) กับแวน (WAN – wide area network) แบบไร้สาย ด้วยการรวมเทคโนโลยี 3G และ WiMAX เข้าด้วยกันในเครื่องเดียวกัน
โดยมาตรฐานของ WiMax หรือ 802.16 สามารถให้บริการด้านบรอดแบนด์ไร้สายได้ไกลถึง 30 ไมล์ด้วยความเร็วประมาณ 10 Mbps
สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่สำหรับบริการ WiMAX มีหลายประการที่ต้องมีการพัฒนาต่อไปจากที่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ตัวมาตรฐานเองที่ยังไม่ค่อยนิ่งเท่าใดนัก การพัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของโครงข่าย (ซึ่งรวมถึงตัวเครื่องลูกข่ายด้วย) การเคลื่อนที่ของลูกข่ายจากสถานีฐานหนึ่งไปยังอีกสถานีฐานหนึ่งโดยไม่มีปัญหาสายหลุดหรืออาการสัญญาณสะดุด เป็นต้น
จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าในขณะนี้คงต้องรอให้มาตรฐานเทคโนโลยี WiMAX ผ่านกระบวนการพัฒนาจนถึงขั้นเป็นมาตรฐานที่สมบูรณ์ (mature) แล้ว อาจเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามนำเทคโนโลยี 3G และ WiMAX มาผสมผสานกันเป็น 4G หากกลุ่มที่พัฒนา 4G ไม่รีบชิงพัฒนา 4G หนีการรวมตัวกับ WiMAX ไปเสียก่อน
การเชื่อมต่อเครือข่าย 4G นั้นกล่าวง่ายคือ ตัวลูกข่าย (Terminal) นั้นจะเชื่อมต่อเครือข่ายแบบ Pico Cell ก่อน ซึ่งแต่ละ Pico Cell นั้นจะเชื่อมต่อกันอยู่ภายใต้โครงข่ายร่มใหญ่ (Umbrella Cell) ซึ่งก็คือเครือข่าย 3G และ WiMAX นั่นเอง
4G นั้นเป็นระบบ ที่รองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี (Convergence of Technology) ทั้งในเทคโนโลยีอดีตและเทคโนโลยีแห่งอนาคตเข้าสู่โลก IP ในรูปแบบ Packet-Based ด้วยกัน ดังภาพที่ 3
แรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยี 4G มีดังนี้คือ
ความสามารถในการทำงานของ 3G อาจจะไม่เพียงพอที่จะสนองตอบความต้องการของแอพพลิเคชั่นสูงอย่างเช่น มัลติมีเดีย, วิดีโอแบบภาพเคลื่อนไหวที่เต็มรูปแบบ (Full-motion video) หรือการประชุมทางโทรศัพท์แบบไร้สาย (Wireless teleconferencing) ทำให้เกิดความต้องการเทคโนโลยีเครือข่ายที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ 3G โดยจะต้องเป็นเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่มากด้วย
มาตรฐานที่ซับซ้อนของ 3G ทำให้ยากในการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย แต่เราต้องการใช้งานแบบเคลื่อนที่และพกพาไปได้ทั่วโลก
3G ทำงานบนแนวคิดของการให้บริการบริเวณพื้นที่หนึ่ง แต่เราต้องการเครือข่ายแบบผสมผสานที่สามารถใช้งานเครือข่ายได้ทั้งแบบ Wireless LAN (Hot spot)
นักวิจัยต้องการให้รูปแบบการแปลงคลื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่สามารถทำได้ในโครงสร้างของ 3G
ระบบ 4G เป็นระบบเครือข่ายแบบ IP digital packet ทำให้สามารถส่ง Voice และ Data ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยราคาการให้บริการที่ถูกมาก และมีรูปแบบที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 4G ได้มีการพัฒนาโดยเน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยการนำไบโอแมทริกซ์มาผสมผสาน ทำให้สามารถซื้อขายกันได้โดยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ Mobile Internet และยังสามารถหักบัญชีเงินในธนาคาร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าหรือบริการได้ทันที ระบบไบโอแมทริกซ์ จึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในธุรกิจในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเห็นอย่างชัดเจนในยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G นั่นคือในธุรกิจ Mobile Commerce นั่นเอง
ซอฟแวร์ที่เกี่ยวกับสื่อมัลติมีเดีย นับเป็นกลุ่มซอฟแวร์ที่จะถูกนำมาใช้ร่วมกับระบบ 4G โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลถูกพัฒนาให้สูงกว่า 100 เมกะบิตต่อวินาที ตัวอย่างเช่น คุณ อาจดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอมาไว้ในรถยนต์ ก่อนออกเดินทางไกล เพื่อว่าจะได้มีหนังดีๆ รวมทั้งข้อมูลการท่องเที่ยวไว้ดูบ้างในระหว่างเดินทาง นั่นคือธุรกิจ Software house และ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้าง Content ในระดับ SME ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็จะมีโอกาสในธุรกิจสื่อมัลติมีเดียบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่เป็นอย่างมาก
ลองนึกภาพ การที่คุณสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อซื้อน้ำอัดลมจากตู้ขายอัตโนมัติ ใช้โทรศัพท์เครื่องเดียวกันสั่งซื้ออัลบั้มเพลง ล่าสุดและดาวน์โหลลงเครื่องเล่น MP3 ได้โดยตรง หรือการที่ นักท่องเที่ยวสามารถใช้คอมพิวเตอร์พกพาเพื่อหาจองโรงแรมที่ใกล้ที่สุด และราคาเหมาะสมที่สุดขณะที่นั่งรถแท็กซี่
โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 4G จะมีความสามารถและสมรรถนะสูงมาก ในระดับที่สามารถชมภาพวิดีโอกันแบบสดๆได้ พร้อมคุณภาพระดับ DVD ตามการเปิดเผยของซัมซุงฯ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ ทางซัมซุงฯได้เพิ่มบุคลากรในแผนกอาร์แอนด์ดี ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ 4G แล้ว
มีการคาดหวังถึงความสะดวกสบายและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับเมื่อบริการ M-Commerce บนระบบ 4G จะเป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย ทำให้เกิดแนวคิดมากมายในการทำ M-Commerce เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด เช่นแนวคิดเกี่ยวกับการกระจายข้อมูลออกไปในระยะใกล้ โดยมีเป้าหมายคือผู้บริโภคที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเดินผ่านร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คุณอาจจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ๆ ที่มีจำหน่ายในร้าน และคุณก็สามารถที่จะตรวจสอบราคาสินค้า เปรียบเทียบราคากับร้านอื่นๆ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด หรือเมื่อคุณนั่งรถไฟฟ้าผ่านสถานที่ท่องเที่ยว โทรศัพท์เคลื่อนที่4G ของคุณก็จะได้รับแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ของบริเวณนั้นบนจอของคุณ อีกทั้งข้อความโฆษณาของโรงแรมหรือที่พักที่อยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ เป็นต้น
ขณะนี้ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี จับมือกันแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี หวังสร้างมาตรฐานร่วม 4G แห่งเอเชีย โดย ชูคุณสมบัติเด่น รับส่งข้อมูล 100 เมกะบิตต่อวินาที พร้อมเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยอาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล เวอร์ชั่น 6 หรือ “ไอพีวี6” (IPv 6) ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาขี้นเป็นรายแรก และมีแผนที่จะผลักดันให้กลายเป็นมาตรฐานระดับโลก
จะเห็นได้ว่าตอนนี้เหล่าผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และนักพัฒนาเริ่มตื่นตัวกับเทคโนโลยีใหม่กันแล้ว และดูเหมือนการแข่งขันที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่า 3G มาก จนทำให้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปอีกแล้ว แต่น่าจะเป็นลักษณะการเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดด